ปัทมราช เป็นชื่อของหนึ่งในอัญมณีรัตนชาติ ที่คนไทยโบราณนับถือ และให้ความสำคัญว่าเป็นพลอยศักสิทธิ์ ควรค่าแก่การนำมาสวมใส่ไว้เป็นเครื่องประดับมงคล สำหรับตกแต่งกาย เพื่อเสริมอำนาจบารมีแก่ผู้สวมใส่มาช้านาน โดยเฉพาะพลอยสีแดงอย่าง “ทับทิม” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพลอยแห่งความแข็งแกร่ง ความสง่างาม การนำมาซึ่งโชคลาภ ความรัก ความสามัคคี และความสงบสุขอีกด้วย

ทับทิม (Ruby) จัดเป็นอัญมณีที่มีค่าความแข็งเท่ากับ 9 โมห์สเกล ซึ่งถือเป็นอัญมณีที่มีความแข็งเป็นอันดับ 2 รองจากเพชรเลยทีเดียว  ทับทิมเป็นรัตนชาติชนิดหนึ่งในตระกูลคอรันดัม (Corundum) ซึ่งถือเป็นแร่แซฟไฟร์ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับไพลิน บุษราคัม และเขียวส่อง (คอรันดัมที่มีสีอื่นนอกจากสีแดง จะถูกจัดเป็นอัญมณีในกลุ่มแซฟไฟร์แทบทั้งสิ้น) มนุษย์เรารู้จักทับทิมมานานกว่า 2,500 ปี โดยมีตำนานเกี่ยวกับทับทิมปรากฏอยู่ในทุกแห่งที่มีการขุดพบอัญมณีชนิดนี้ โดยเฉพาะที่ศรีลังกา อินเดีย และจีน ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ ที่มีการขุดพบแร่รัตนชาติชนิดนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่เดิมนั้น ชาวอินเดียมักจะนำทับทิมที่ขุดได้นี้มาเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้า โดยเฉพาะพระกฤษณะ ซึ่งเป็นองค์อวตารแห่งพระพรหม ที่ชาวอินเดียทั้งหลายเชื่อว่า จะเป็นผู้นำทางชีวิตพวกเขาไปสู่แสงสว่าง และสันติสุข ดังนั้นหากผู้ใดได้ถวายทับทิมแด่พระองค์ ความปรารถนาทั้งมวลก็จะสัมฤทธิ์ผลด้วยนั่นเอง

สำหรับในประเทศไทยนั้น มีปรากฏหลักฐานตำนานเกี่ยวกับทับทิมขึ้นครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลศหล้านภาลัย ฯ (รัชกาลที่ 2) โดยหลวงนรินทราภรณ์ ผู้ดูแลเครื่องทรงขององค์พระมหากษัตริย์ได้มีการบันทึกเรื่องราวของการจำแนกลักษณะอันงามของทับทิมเอาไว้ในสมุดไทยว่า ความงามของทับทิมนั้นสามารถจำแนกได้จาก ประกายรัศมี (หรือที่เราเรียกกันว่า ‘น้ำ’)  น้ำหนักอัญมณี (หรือที่คำโบราณเรียกกันว่า ‘กล่ำ’) และสีของเนื้อพลอย ซึ่งทับทิมที่มีเนื้องามเลิศสุดจะมีสีแดงดังดอกทับทิม ซึ่งจัดว่ามีค่าสูง และมีราคาแพงที่สุดด้วยเช่นกัน  ทว่า อย่างไรก็ตาม ทับทิมที่พบส่วนมากมักมีอยู่หลายสีด้วยกัน ทั้งสีแดงอมชมพู สีแดงเลือดนก สีแดงอมม่วง สีแดงอมส้ม และสีแดงสด ซึ่งความแตกต่างของสีนี้จะขึ้นอยู่กับธาตุโครเมียม ที่สะสมตัวอยู่ในอัญมณีชนิดนี้ ตามแหล่งกำเนิดที่พบด้วยเช่นกัน อาทิ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน พม่า ไทย เวียดนาม กัมพูชาและแทนซาเนีย เป็นต้น

ในด้านความเชื่อเกี่ยวกับทับทิมนั้น เชื่อกันว่า ทับทิมเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก และความมีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับ “ปู” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไม่หยุดนิ่งของชาวกรกฎ ซึ่งมีบุคลิกโดดเด่นในเรื่องของมิตรภาพ การดึงดูดผู้คนรอบข้างให้เข้ามาหา การกระตุ้นให้เกิดความรักระหว่างเพศ ทั้งยังก่อให้เกิดความเมตตา และความเข้าใจอันดีระหว่างกันและกันอีกด้วย ซึ่งคู่แต่งงานชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มักนิยมมอบอัญมณีชนิดนี้ให้กับภรรยาหรือสามี ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมายาวนาน แทนของขวัญครบรอบการแต่งงานปีที่ 15 อีกด้วย 

นอกจากในด้านของความรักแล้ว ทับทิมยังได้ชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งโชคลาภอีกด้วย โดยตามบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอัญมณีชนิดนี้ กล่าวว่าในราวศตวรรษที่ 13 ผู้คนทั้งหลายต่างเชื่อว่า ผู้ใดฝันว่าได้ครอบครองทับทิม ผู้นั้นจะได้ลาภ โดยเฉพาะหากนำทับทิมมาแกะสลักตกแต่งคู่กับงู หรือมังกร ลาภผล และทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็จะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณที่นับถืองู เป็นเสมือนเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่ง ในขณะที่ชาวจีนเองก็นับถือมังกร เป็นเสมือนเทพแห่งความโชคดี และพลังอำนาจเช่นกัน

ทับทิมเป็นอัญมณีที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และผู้ที่เกิดในเดือนกรกฎาคม และเดือนธันวาคม อีกทั้งยังเหมาะที่จะสวมใส่ไว้เป็นเครื่องประดับคู่กาย สำหรับผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ เช่น นักธุรกิจ ผู้บริหาร หัวหน้างาน และเจ้าของกิจการ เป็นต้น

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ