ในภาษาไทยมีคำเรียกอัญมณีว่า “รัตนชาติ” ซึ่งแปลว่า สิ่งที่เกิดมาเป็นแก้ว โดยในสมัยโบราณมีคำกลอนที่กล่าวถึงแก้ว 9 ประการหรือนพรัตน์ไว้คือ “เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แสงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” ซึ่งในอัญมณีทั้ง 9 ชนิดนี้ เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ“เพชร 1 ชนิด กับพลอย 8 ชนิด”

“เพชร”เป็นรูปแบบหนึ่งของธาตุคาร์บอน โมเลกุลเรียงตัวเป็นทรงแปดหน้า และเป็นแร่ธาตุที่มีความแข็งสูงสุดคือระดับ 10 ตามสเกลของโมส์ (Moh’s scale) เรามักจะคุ้นเคยกับเพชรสีขาว หรือเพชรที่ไม่มีสี แต่ในธรรมชาติ จะพบเพชรได้หลายสี อาทิ สีแดง ฟ้า เขียว ส้ม ชมพู ซึ่งเรียกรวมว่าเพชรแฟนซี มีราคาสูงกว่าเพชรทั่วไป

เพชรมีการค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกคือในบริเวณที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน ในบริเวณชั้นหินและตะกอนจากน้ำพัดพาเป็นเวลาหลายศตวรรษตามแม่น้ำเพนเนอร์ กฤษณะ และโคธาวารี ชาวอินเดียในสมัยโบราณนำเพชรไปใช้ประกอบกับรูปเคารพทางศาสนา รวมทั้งใช้เพชรเป็นเครื่องมือแกะสลักเนื่องจากมีคุณสมบัติด้านความแข็งแกร่ง

ในเวลาต่อมา เมื่อเพชรได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มเกิดอุตสาหกรรมการทำเหมืองเพชร การเจียระไน และการค้าเติบโตและแผ่ขยายความนิยมในเพชรไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลก ในปัจจุบัน เหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดและขุดเพชรได้มากที่สุดในโลกอยู่ในประเทศบราซิลและแอฟริกาใต้

เพชรที่ขุดพบในธรรมชาติจะถูกเรียกว่า “เพชรดิบ” ก่อนจะนำมาทำการเจียระไน โดยการเจียระไนเป็น 52 เหลี่ยมนับว่ามีความสวยงามมากที่สุด ส่วนการพิจารณาเพชรในการซื้อขายนั้นจะใช้หลัก 4C ได้แก่ กะรัต(Carat) การตัด(Cut) สี(Color) และความสะอาด (Clarity) ความนิยมในเพชรดำเนินมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ โดยมีการยกย่องว่าเพชรคือสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความแข็งแกร่ง ตามรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า “วชร” ซึ่งแปลว่า สายฟ้า และรากศัพท์ภาษากรีกว่า “adamas” ซึ่งแปลว่า สมบูรณ์ แข็งแกร่ง กล้าหาญ

ส่วน “พลอย”นั้น หมายถึงอัญมณีทุกชนิดยกเว้นเพชร พลอยเรียกอีกอย่างว่า “หินสี” ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ตระกูลใหญ่ๆ ได้แก่ พลอยในตระกูลคอรันดัม ซึ่งประกอบด้วยธาตุ Al2O3 โดยมี Al : O = 52.9 : 47.1 โดยมวล พลอยแต่ละชนิดมีสีต่างกัน เพราะมีธาตุเจือปนที่ต่างกัน เช่นทับทิม มีสีแดง เพราะมี โครเมียม เจือปนอยู่ 0.1 – 1.25 โดยมวล บุษราคัม (แซฟไฟร์สีเหลือง) มี เหล็ก และไทเทเนียม เจือปน ไพลิน (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน) มีสีน้ำเงินเพราะมี เหล็ก และ ไทเทเนียม เจือปน พลอยสาแหรก หรือสตาร์ มีรูไทล์ปนอยู่ในเนื้อพลอย และพลอยในตระกูลควอทซ์ เช่น อเมทิสต์ ซิทริน อาเกต เป็นต้น

หากย้อนกลับไปดูคำกลอนโบราณจะเห็นได้ว่า นอกจากเพชรแล้ว จะกล่าวถึงพลอยไว้อีก 8 ชนิดคือ ทับทิม(มณีแดง) มรกต บุษราคัม โกเมน แซฟไฟร์หรือไพลิน มุกดาหรือจันทรกานต์(Moonstone) เพทาย และ ไพฑูรย์ ซึ่งพลอยทั้ง 8 ชนิดเป็นพลอยที่ได้รับการยกย่องให้มีความสำคัญในเชิงศาสนาและวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งพลอยทุกชนิด(รวมทั้งเพชร) มีการขุดพบในภูมิภาคนี้ทั้งหมด

ขณะที่ “เพชร” คืออัญมณีอันดับหนึ่งทั้งด้านความงามและความแข็งแกร่งอย่างไม่มีอัญมณีใดเสมอเหมือน แต่ “พลอย”ก็มีความหลากหลายมากกว่า พลอยเป็นอัญมณีที่มีความหลากหลาย ทั้งชนิด สี คุณภาพ และราคา แต่ใช่ว่าพลอยจะมีแต่ราคาต่ำ ไปจนถึงราคากลางๆ เท่านั้น พลอยหายากอย่าง “ทับทิมสยาม” อาจมีราคาสูงกว่าเพชร

“เพชร”มักจะนิยมใช้ในโอกาสสำคัญของชีวิตเช่น งานหมั้น งานแต่งงาน แต่ “พลอย” นั้นสามารถมอบให้กันได้ในหลายๆ โอกาส เช่น ของขวัญวันเกิด ของขวัญในโอกาสเลื่อนตำแหน่ง ของขวัญแทนใจ ฯลฯ ความสัมพันธ์ระหว่างเพชรกับพลอย เป็นความสัมพันธ์คล้ายดาวล้อมเดือน ขณะที่เพชรเป็นอัญมณีอันดับหนึ่ง เป็นธาตุที่แข็งแกร่งที่สุด ส่องประกายโดดเด่นที่สุด และได้รับการยกย่องสูงสุด แต่พลอยกลับมีมากมายหลายชนิด หลากสีสัน ชวนตื่นตาตื่นใจ แม้เพชรจะโดดเด่นที่สุด แต่หากโลกนี้มีเพียงเพชรไม่มีพลอยชนิดใดเลย เพชรก็อาจไม่มีค่าสูงเท่านี้

เรามักจะเรียกอัญมณีรวมๆ กันว่า “เพชรพลอย” ซึ่งหมายถึงหินสีที่มีค่า ซึ่งคุณค่าของมันไม่ใช่เพียงแค่ราคาเท่านั้น แต่ยังหมายถึง คุณค่าทางจิตใจ สัญลักษณ์ทางนามธรรม ซึ่งอัญมณีแต่ละชนิดได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในความหมายของมันอย่างสมบูรณ์

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ