เราอาจคิดว่า ใน 1 ปี วันคล้ายวันเกิดของเราเป็นวันสำคัญที่เราจะได้เฉลิมฉลอง เป็นวันที่เพื่อนฝูงและครอบครัวจะได้มาร่วมแสดงความยินดี และเป็นวันที่เราควรจะมีความสุขที่สุด แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง วันที่เราเกิดก็เป็นวันที่แม่ของเราเจ็บปวดทรมานอย่างที่สุดด้วย ก่อนที่เราจะมีชีวิต “แม่”ก็ได้เสี่ยงชีวิตเพื่อให้กำเนิดเราแล้ว ดังนั้นจึงมีคำกล่าวที่ว่า “วันคล้ายวันเกิดของเรา ควรคิดถึงพระคุณของคุณแม่ผู้ให้กำเนิดเรา”

นอกจากนี้ ในวันคล้ายวันเกิดของคุณแม่ และในวันที่ 12 สิงหาคม ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นวันแม่แห่งชาติ ก็ยังเป็นอีกสองวันที่เราจะได้ทำสิ่งๆ ดีเพื่อคุณแม่ของเราด้วย และหากคิดจะซื้อของขวัญสักชิ้นเพื่อให้คุณแม่ตื่นเต้น ประทับใจ จะมีตัวเลือกไหนน่าสนใจมากไปกว่า “เครื่องประดับ” สักชิ้น ?

อาจเป็นเรื่องแปลกใหม่พอสมควร หากคุณไม่เคยซื้อเครื่องประดับเป็นของขวัญให้คุณแม่ของคุณเลย แต่เชื่อเถิดว่า เครื่องประดับที่คุณได้เลือกมาอย่างดีแล้ว จะทำให้คุณแม่ของคุณประทับใจและมีความสุขเมื่อได้รับอย่างแน่นอน

ถ้าหากคุณคิดจะทำให้คุณแม่ประหลาดใจด้วยเครื่องประดับสักชิ้น ลองมาพิจารณาดูว่า เราควรจะมีวิธีการอย่างไรบ้างในการเลือกเครื่องประดับให้คุณแม่

ข้อแรก “การสังเกต” ไม่ว่าคุณจะเคยสังเกตหรือไม่ก็ตาม หากคุณคิดจะซื้อเครื่องประดับให้คุณแม่ คุณจำเป็นต้องสังเกตว่า คุณแม่ของคุณชอบใส่เครื่องประดับแบบไหน ชิ้นไหนเป็นพิเศษ แน่ละ คุณแม่ของคุณย่อมต้องมีเครื่องประดับมากมายหลายชิ้น แต่จะมีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นที่ท่านจะชอบหยิบมาใส่ ลองจดบันทึกไว้ ว่ามันคือเครื่องประดับอะไร มีลักษณะอย่างไร ใช้อัญมณีอะไร ฯลฯ

ข้อสอง “เปรียบเทียบและประยุกต์” เครื่องประดับที่คุณแม่ของคุณนิยมใส่ บางครั้งก็เป็นเครื่องประดับเก่าเก็บที่มีคุณค่าทางจิตใจ ได้รับสืบทอดมาจากคุณยาย หรือคุณพ่อของคุณซื้อให้ หรือซื้อไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยความชอบและยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คุณอาจ “จับ” รสนิยมของท่านได้ว่าท่านชอบเครื่องประดับแบบใด เช่น ท่านชอบเครื่องเงินที่ประดับด้วยอัญมณี,ชอบสวมแหวนหลายวง,ชอบสวมสร้อยคอมือแต่ไม่ชอบสวมกำไล ,ชอบเครื่องประดับแบบเป็นชุด ,ชอบเครื่องประดับที่มีสีประจำวันเกิด ฯลฯ

ซึ่งการจะเดาใจท่านให้ได้ว่าท่านชอบเครื่องประดับแบบไหน ก็ต้องใช้สิ่งที่ท่านชอบเหล่านี้เป็นแนวทาง เพราะบางครั้ง แม้ว่าเราพอจะทราบแล้วว่า ท่านชอบเครื่องประดับแบบไหน แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง อาจทำให้เราไม่สามารถซื้อแบบที่ต้องการได้ (อาทิ งบประมาณไม่เพียงพอ) เราจึงต้องนำลักษณะร่วมบางประการเพื่อนำไป “เปรียบเทียบ”กับเครื่องประดับที่เราจะเลือกซื้อ วิธีการนี้ อย่างน้อยที่สุดก็รับประกันได้ส่วนหนึ่งว่า เครื่องประดับที่เราเลือกจะยังคงอยู่ในกรอบความชอบของคุณแม่ โอกาสที่ท่านจะ “ชอบ” หรือ “ชอบมากๆ” ก็มีมาก

แต่หากคุณคิดว่า คุณอยากจะเลือกเครื่องประดับให้คุณแม่โดยไม่ต้องสนใจความชอบของท่าน ก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยที่ท่านจะ “เฉยๆ” “ชอบ” หรือแม้กระทั่ง “ไม่ชอบเลย”

ข้อสาม “ค้นหาสิ่งที่ดีที่สุด” เมื่อคุณได้แนวทางความชอบอย่างกว้างๆ ของคุณแม่ หรืออย่างจำเพาะเจาะจงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้แล้ว ทีนี้ก็ถึงขั้นตอนสำคัญที่คุณจะต้องไปค้นหาเครื่องประดับที่คุณต้องการจะมอบให้ท่าน ซึ่งในการเลือกนี้ หากคุณทำการบ้านมาดีพอสมควร การเลือกจะง่ายขึ้นมาก แต่ถ้าคุณทำการบ้านมาน้อยไปหน่อย กำหนดสิ่งที่ท่านน่าจะชอบได้ไม่ชัดเจนพอ คุณอาจต้องใช้เวลาในการเลือกมากสักหน่อย อาทิเช่น คุณสำรวจมาได้ว่า คุณแม่ของคุณชอบสวมสร้อยทองที่มีจี้เป็นอัญมณี ดังนั้น สิ่งที่คุณควรจะทำคือเลือกสร้อยคอทองคำ(ในกรณีที่มีงบประมาณเพียงพอ)และจี้อัญมณีอีกหนึ่งอัน หรือ คุณแม่ของคุณชอบแหวนเพชร ไม่สวมแหวนอย่างอื่นเลย คุณก็คงจะต้องหาแหวนเพชรให้ท่านสักวง จึงจะเป็นของขวัญที่ถูกใจท่านมากที่สุด

ข้อสี่ “มอบให้ท่านด้วยความรักและเคารพ” ไม่ว่าคุณจะยุ่งแค่ไหน ก็จงหาโอกาสที่จะนำของขวัญทีคุณเลือกมาอย่างดีนี้ ไปมอบให้ท่านด้วยตัวเอง ไม่ควรฝากใครให้เอาไปให้ ยกเว้นติดธุระสำคัญ หรือคุณอยู่ไกลจากท่านมากเช่น อยู่ต่างประเทศ แน่นอนเรื่องของแพกเกจหรือการบรรจุหีบห่อก็เป็นเรื่องสำคัญที่ละเว้นไม่ได้ เครื่องประดับทุกชิ้นจะดูดีขึ้นอีกหลายเท่าเมื่ออยู่ในหีบห่อที่สวยงาม เหมาะสม

อย่าลืมด้วยว่า เมื่อมอบให้ท่านแล้ว จงบอกว่าเรารักท่านมากเท่าใด เพียงแค่นี้ ท่านก็จะมีความสุขอย่างยิ่งแล้ว

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ