“เทอร์ควอยซ์” (Turquoise)หรือ “พลอยขี้นกการเวก” เป็นอัญมณีที่เป็นที่รู้จักกันมานานกว่า 5,000 ปี ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก โดยมีการนำทำเป็นเครื่องประดับนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี พบกำไลทองคำที่ประดับด้วยเทอร์ควอยซ์ อะมีทีสต์ และ ลาพิส ลาซูลี (Lapis Lazuli) ในสุสานราชวงศ์แรกของอียิปต์ มัมมี่พระศพตุตันคาเมนก็ห่อหุ้มด้วยทองคำประดับอัญมณีหลากหลายชนิด รวมทั้งเทอร์ควอยซ์ด้วย

แต่ชื่อ "เทอร์ควอยซ์” เป็นชื่อที่เพิ่งใช้เรียกอัญมณีชนิดนี้ในช่วงที่เกิดสงครามครูเสด เพราะบรรดานักรบชาวยุโรปที่เดินทางไปร่วมรบในสงครามครูเสดได้นำอัญมณีชนิดนี้ติดตัวกลับมาด้วย โดยเรียกมันว่าหินจากตุรกี (Turkish Stone) และจากเทอร์กิชสโตน ก็กลายมาเป็น “เทอว์ควอยซ์” ในเวลาต่อมา

ผู้คนในสมัยโบราณเชื่อกันว่า เทอร์ควอยซ์เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ เป็นหินนำโชค สามารถบอกเหตุล่วงหน้าได้และยังเป็นเครื่องรางป้องกันภัย ชาวแอซเท็ก(ชนชาติโบราณมีอารยธรรมก้าวหน้า อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเปรูในช่วงคริสตวรรษที่ 14-16) เชื่อว่าเทอควอยซ์เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง โดยชาวแอซเท็กใช้เทอร์ควอยซ์ประดับหน้ากากที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ  ส่วนชาวมุสลิม นิยมใช้เทอร์ควอยซ์มาประดับคู่กับไข่มุกบนหมวกโพกศีรษะเพื่อคุ้มครองตนจากสิ่งชั่วร้าย

ด้านชาวอินเดียนแดงเชื่อว่า เทอร์ควอยซ์เป็นสัญลักษณ์แห่งท้องฟ้า นำมาซึ่งจิตวิญญาณของท้องฟ้าและท้องทะเล ทำให้ยิงธนูได้แม่น ส่วนผู้ขี่ม้าในสมัยก่อน ก็นิยมพกอัญมณีชนิดนี้ติดตัวไว้เพื่อป้องกันการตกม้า ความเชื่อดังกล่าวมีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องบิน หรืออาชีพอื่นที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจะนิยมพกเทอร์ควอยซ์ โดยเชื่อว่า หากผู้สวมใส่กำลังตกอยู่ในอันราย เทอร์ควอยซ์จะเปลี่ยนสี

สีของเทอร์ควอยส์นั้นมีตั้งแต่สีฟ้าไปจนถึงสีเขียวอมเทา แต่ที่นิยมมากที่สุดและมีคุณภาพดีที่สุด คือสีฟ้าของท้องฟ้า และในเนื้อมักจะมีลายเส้นบางๆ พาดพันไปมาเหมือนใยแมงมุม

แม้จะได้รับความนิยมสูง แต่เทอร์ควอยซ์ในธรรมชาติก็มีความแข็งเพียง 5-6 ทำให้เปราะและเสียหายได้ง่ายมาก การนำเทอร์ควอยซ์มาทำเป็นเครื่องประดับจึงนิยมนำไปผ่านการเพิ่มคุณภาพด้วยวิธีที่เรียกว่า “Stabilized Turquoise” ซึ่งเป็นการใช้เรซินหรือวัสดุอื่นๆ แทรกซึมเข้าไปตามช่องว่างภายในของเทอร์ควอยซ์ ทำให้มีความทนทานมากขึ้น แต่ไม่ทำให้สีสันเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากเทอร์ควอยซ์มีความแข็งน้อยกว่าพลอยชนิดอื่นๆ  การเก็บรักษาเครื่องประดับเทอร์ควอยซ์ จึงควรแยกเก็บจากเครื่องประดับพลอยชนิดอื่นๆ รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำมัน น้ำหอม สารเคมีทำความสะอาดต่างๆ รวมทั้งน้ำยาทำความสะอาดเครื่องประดับด้วย การทำความสะอาดเทอร์ควอยซ์นั้น ควรเช็ดให้แห้งด้วยผ้านิ่มๆ เท่านั้น หรือถ้าต้องการเช็ดให้สะอาด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเบาๆ ก่อนใช้ผ้าแห้งเช็ดให้แห้งอีกครั้ง ถ้าผู้สวมใส่ต้องการฉีดน้ำหอมหรือทาครีมบำรุงผิว เมื่อทาเสร็จแล้วควรทิ้งระยะสักครู่ก่อนใส่เครื่องประดับเทอร์ควอยซ์ เพื่อไม่ให้สีของเทอร์ควอยซ์เปลี่ยนแปลง

การที่ไม่สามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือเครื่องล้างจิวเวลรี่ได้ อาจทำให้ตัวเรือนไม่แวววาว โดยเฉพาะเครื่องเงินจะเกิดปฏิกิริยา oxidation อยู่เป็นประจำ วิธีแก้ไขคือ ใส่ถุงซิปก่อนเก็บ หรือใช้ผ้าเช็ดเครื่องประดับเช็ดเฉพาะส่วนของตัวเรือน โดยระมัดระวังอย่าให้โดนเทอร์ควอยซ์

เพียงเท่านี้ “เทอร์ควอยซ์”ชิ้นสวยของเรา ก็พร้อมจะอวดโฉมอยู่คู่กับเราไปได้อีกนานแสนนาน

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ