ในบรรดาอัญมณีมากมายนับสิบนับร้อยชนิด “มุก” นับเป็นอัญมณีเพียงชนิดเดียวที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต นั่นคือ “หอยมุก”  การเกิดขึ้นของมุกหรือไข่มุก เป็นกระบวนการทางชีวภาพที่น่าสนใจ ซึ่งมนุษย์เองก็ได้ศึกษากระบวนการเหล่านี้ และพัฒนามาจนสามารถเลี้ยงมุกได้ในที่สุด

มุกหรือไข่มุก (Pearl) มาจากภาษาละตินว่า "pilula" ที่แปลว่า ลูกบอล ในสมัยโบราณรู้จักมุกในชื่อของ มาร์กาไรต์ (Margarite) ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า “Margaritafera” หมายถึงหอยที่มีมุกฝังอยู่

ชาวกรีกยกย่องว่ามุกถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และถือว่ามุกเป็นของที่มีค่าสูงเหมาะสำหรับชนชั้นที่อยู่ในตระกูลสูงเท่านั้น ส่วนชาวฮินดูถือว่าเป็นอัญมณีแห่งความมั่งคั่งสมบูรณ์ นอกจากนี้ สีสันต่าง ๆ ของมุกยังมีความหมายต่างกันออกไป กล่าวคือ ไข่มุกสีขาว เป็นสัญลักษณ์ของความมีอุดมคติหรือความเป็นเลิศ,ไข่มุกสีดำ หมายถึงปรัชญาหรือปัญญา, ไข่มุกสีชมพู หมายถึงความงาม ,ไข่มุกสีแดง เป็นสัญลักษณ์แห่งสุขภาพและพลัง ส่วนไข่มุกสีเทา เป็นเครื่องหมายของการดูถูกดูแคลน

หากแบ่งตามการกำเนิดของมุกในปัจจุบันจะแบ่งออกได้เป็น ไข่มุกจากธรรมชาติ และไข่มุกจากการเลี้ยง สำหรับ ไข่มุกธรรมชาตินั้นเกิดจากการที่มีของแข็งชิ้นเล็กๆ เช่น เม็ดทราย หรือหิน ได้เล็ดลอดเข้าไปภายในเปลือกหอย ซึ่งทำให้หอยเกิดความระคายเคือง มันจะมีกลไกป้องกันตัวโดยสร้างชั้นที่เรียกว่า เนเคอร์(nacre) เพื่อห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมนั้น โดยจะหุ้มหลายชั้นซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งมีความหนามากขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะคล้ายหัวหอมที่มีหลายชั้น รูปทรงของมันจะขึ้นอยู่กับรูปทรงของวัสดุแปลกปลอมที่เข้าไป ไข่มุกธรรมชาติ มักจะหายาก มีความงาม และมีราคาแพง มากกว่าไข่มุกเลี้ยง โดยซื้อขายกันเป็นน้ำหนักหน่วยกะรัต

ส่วนไข่มุกเลี้ยงนั้น มีกระบวนการเกิดขึ้นเช่นเดียวกับไข่มุกธรรมชาติ แต่วัสดุแปลกปลอมที่เข้าไปในตัวหอยนั้นจะไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นความจงใจของมนุษย์ผู้เลี้ยง โดยผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้เครื่องมื่อเปิดฝาหอยออก แล้วนำวัสดุเช่น ลูกปัดกลม ใส่ลงไป จากนั้นนำหอยไปเลี้ยง คอยดูแลสภาพแวดล้อม น้ำ อาหาร เมื่อเวลาผ่านไป วัสดุนั้นจะถูกเคลือบด้วยเนเคอร์ ยิ่งเนเคอร์มีความหนามากเท่าไร คุณภาพของมุกนั้นก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

มุกเลี้ยงส่วนใหญ่มักซื้อขายกันโดยวัดขนาดเป็นมิลลิเมตร โดยแหล่งที่มีการเลี้ยงไข่มุกซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกนั้นมีอยู่หลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีแหล่งค้นหาไข่มุกตามธรรมชาติ ซึ่งให้มุกที่มีคุณภาพแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ

มุกอะโกย่า (Akoya Pearl) เป็นไข่มุกที่พบในประเทศญี่ปุ่น มีความแวววาวที่สุด เมื่อเทียบกับไข่มุกประเภทอื่นๆ ไข่มุกอะโกย่าจะคล้ายไข่มุกน้ำจืด แต่มีความแตกต่างคือไข่มุกอะโกย่าจะมีขนาดใหญ่กว่า ผิวเรียบกว่า รูปร่างกลมกว่า และมีความแวววาวมากกว่าไข่มุกน้ำจืด

มุกตาฮิติ (Tahitian Pearl) เป็นมุกขนาดค่อนข้างใหญ่ที่พบในหมู่เกาะโพลินิเชีย เป็นมุกที่มีสีสันพิเศษคือสีเทาอ่อน สีดำ จนไปถึงสีเขียวและสีม่วง ซึ่งสีสันที่แปลกแตกต่างและขนาดใหญ่นี้เอง มุกตาฮิติจึงมีราคาสูงมาก

มุกมาบิ (Mabe Pearl)มุกมาบิ คือไข่มุกครึ่งซีกที่เติบโตอยู่กับเปลือกหอยมุก มันจะไม่เติบโตอยู่ในตัวหอยมุก จึงทำให้มีลักษณะเป็นเพียงครึ่งซีก เหมาะที่จะนำมาทำต่างหูและแหวนที่ด้านหลังแบนและเรียบ

มุกขาวทะเลใต้ (White South Sea Pearl) พบใน ออสเตรเลีย พม่า อินโดนีเซีย และประเทศในแถบแปซิฟิค มีขนาด 10-20 มิลลิเมตร ราคาค่อนข้างสูงเพราะค่อนข้างหายากและมีขนาดใหญ่

มุกน้ำจืด (Freshwater Pearl) พบได้ตามแม่น้ำทุกแห่งในโลก เพาะเลี้ยงได้ง่ายในประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย มีความแวววาวน้อยกว่ามุกน้ำเค็ม จึงมีราคาถูกกว่า แต่ก็มีรูปร่างและสีสันที่หลากหลาย ทำให้ได้รับความนิยมพอสมควร

“ไข่มุก” สามารถนำไปสร้างเครื่องประดับได้หลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากที่สุด น่าจะได้แก่ สร้อยคอ และต่างหู ตามลำดับ ขณะที่อัญมณีประเภทอื่นจะส่องสว่างเป็นประกาย แต่มุกจะแวววาวขาวนวล ทำให้ผู้พบเห็นไม่อาจละสายตาได้ ดึงดูดความสนใจยิ่งกว่าอัญมณีประเภทอื่นใด

หาก “เพชร” และ “พลอย” คืออัญมณีแห่งพื้นพิภพ “ไข่มุก” ก็นับเป็นอัญมณีแห่งท้องทะเล เพียงหนึ่งเดียว

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ