“พลอย” เป็นคำเรียกโดยรวมของอัญมณีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสามารถแยกย่อยออกไปได้มากมายนับสิบชนิด โดยมีการเปรียบเทียบว่า ขณะที่ “เพชร”เป็นอัญมณีอันดับหนึ่ง และเพชรแบบสีขาวหรือไร้สี ถือเป็นสุดยอดอัญมณี แต่ “พลอย” ซึ่งมีราคาต่ำกว่า กลับมีให้เลือกมากมาย เป็นอัญมณีที่เต็มไปด้วยสีสันสวยงาม

ในทางวิทยาศาสตร์ ได้มีการจัดแบ่งพลอยออกเป็น 2 ตระกูลใหญ่ หนึ่งคือพลอยตระกูล “คอรันดัม” (Corundum) เช่น ทับทิม บุษราคัม ไพลิน และ สอง คือพลอยตระกูล “ควอทซ์”(Quartz) เช่น อเมทริส ซิทริน อาเกต

พลอยทั้งสองตระกูลนี้แตกต่างกันที่ พลอยตระกูลคอรันดัมจะมีความแข็งแกร่งทนทานต่อการขีดข่วน ส่วนมากได้รับความนิยมสูง ส่วนพลอยตระกูลควอทซ์ แม้จะไม่มีความแข็งแกร่งทนทานเท่า แต่มีคุณสมบัติพิเศษคือการมีประจุไฟฟ้าในเนื้อพลอย ทำให้มีการนำคุณสมบัตินี้มาใช้ในการควบคุมคลื่นความถี่วิทยุ และควบคุมความเที่ยงตรงของนาฬิกา ดังที่เราเรียกกันว่า นาฬิกาควอทซ์

นอกจากการแบ่งพลอยออกเป็น 2 ตระกูลดังกล่าวแล้ว ยังมีการแบ่งพลอยออกเป็น “พลอยเนื้ออ่อน” ซึ่งหมายถึงพลอยที่มีค่าความแข็งน้อยกว่า 9 และ “พลอยเนื้อแข็ง” ซึ่งหมายถึงพลอยที่มีค่าความแข็ง ตั้งแต่ 9 ขึ้นไป ทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนต่างก็มีความงาม และราคาที่แตกต่างกันไป ซึ่งความนิยมในพลอยไม่ได้วัดจากความแข็งของพลอยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้สนใจและผู้ซื้อควรทราบ คือพลอยเนื้ออ่อนนั้นมีความแข็งน้อยกว่าพลอยเนื้อแข็ง โอกาสที่จะถูกขีดข่วน แตก หรือชำรุดจึงง่ายกว่า หรือพลอยบางชนิด เกิดจากการเผา หรือการฉายรังสี จึงควรหลีกเลี่ยงความร้อนและรังสี ซึ่งอาจทำให้สีของพลอยเปลี่ยนหรือเนื้อพลอยเกิดความเสียหาย

หลายคนอาจไม่ทราบว่า สารเคมีเพื่อความงามบางอย่างเช่น แฮร์สเปรย์ และน้ำหอม รวมทั้งเหงื่อของตัวเราเอง อาจเป็นสาเหตุทำให้เครื่องประดับหมองลงได้ ดังนั้น ในแต่ละวัน เมื่อสวมใส่อัญมณีที่ประดับด้วยพลอยเนื้ออ่อนแล้ว จึงควรถอดออกมาเช็ดเครื่องประดับให้สะอาดด้วยผ้าสะอาดนุ่มเป็นประจำ   

หากมีสิ่งสกปรกหรือฝุ่นเกาะ ควรทำความสะอาดพลอยเนื้ออ่อนด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างอัญมณีโดยเฉพาะแล้วแปรงด้วยแปรงขนนุ่ม จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง ส่วนการเก็บรักษานั้น เครื่องประดับพลอยแต่ละชิ้นควรเก็บแยกจากกัน ไม่ควรเก็บรวมกัน เพราะมีโอกาสที่อัญมณีจะกระทบขีดข่วนกันเป็นริ้วรอย

นอกจากนี้ การใส่เครื่องประดับพลอยเนื้ออ่อนไปยังที่มีอุณหภูมิสูงเช่น ห้องอบไอน้ำ หรือลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำซึ่งมีสารคลอรีน หรือลงเล่นในทะเลซึ่งมีค่าความเค็มสูงกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อตัวพลอยได้โดยตรง ซึ่งในชีวิตประจำวันของเรา อาจมีกิจกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกหรือสารเคมี ทำให้พลอยได้รับความเสียหาย ดังนั้น ในการสวมใส่แต่ละครั้ง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงรูปแบบกิจกรรมและการใช้ชีวิตด้วย

การดูแลรักษาพลอย ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นพลอยที่มีราคาแพง เช่น สร้อยมรกต หรือจี้บุษราคัม เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงต่างหูพลอยราคาไม่กี่ร้อยบาท หรือ แหวนไพลินราคาเพียงพันกว่าบาท ก็ต้องดูแลรักษาด้วยวิธีการเดียวกัน เพราะของแต่ละชิ้น นอกจากราคาของมันแล้ว มันอาจมี “คุณค่าทางใจ” เพื่อระลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง บางวาระโอกาส หรือบางคนที่ได้มอบมันเป็นของขวัญแก่เรา มันจึงมีคุณค่าเพียงพอที่เราจะรักษาไว้ให้ดี

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองว่า พลอยเนื้ออ่อนนั้นดูแลยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราเข้าใจธรรมชาติของพลอยเนื้ออ่อน และระมัดระวังอย่างเพียงพอ เราก็สามารถที่จะสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นพลอยเนื้ออ่อนได้อย่างมั่นใจ 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ