หากเอ่ยถึงชื่อ ศนิปุริย หลายคนอาจส่ายหน้าด้วยความมึนงง และนึกไม่ถึงว่าแท้จริงแล้วชื่อแปลกๆ ในภาษาสันสกฤตนี้ แท้จริงแล้วก็คือ อัญมณีสีน้ำเงินที่เรารู้จักกันดีในนามของพลอยไพลิน หรือ Blue Sapphire นั่นเอง


ปัจจุบัน หากเอ่ยนามถึง Sapphire คนส่วนใหญ่จะนึกถึงไพลินเป็นอันดับแรก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอัญมณีในตระกูลแซฟไฟร์จะมีอยู่หลายสีด้วยกัน แต่โดยมากหากจะกล่าวถึงแซฟไฟร์ที่ไม่ใช่ไพลิน ผู้คนส่วนใหญ่จะระบุสีของแซฟไฟร์นั้นๆ ไว้ด้วยความเข้าใจที่ตรงกันยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า แซฟไฟร์สีเหลือง หรือบุษราคัม จะถูกเรียกว่า Yellow Sapphire แซฟไฟร์สีเขียว หรือเขียวส่อง จะถูกเรียกว่า Green Sapphire และแซฟไฟร์สีชมพู ก็จะถูกเรียกว่า Pink Sapphire เป็นต้น


ทั้งนี้ ชื่อของไพลินที่เราเรียกขานกันในภาษาสันสกฤตว่า ศนิปุริย นั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดแรกที่มีการค้นพบแซฟไฟร์ และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานอัญมณีชนิดนี้ โดยในยุคนั้นชาวเปอร์เซียจะเรียกขานแซฟไฟร์ด้วยภาษาของตนว่า “Saffir” ซึ่งหมายถึง หินที่มาจากฟ้า หรือแผ่นดินของสรวงสวรรค์ นั่นเอง โดยชาวเปอร์เซียเชื่อกันว่า เดิมทีนั้นโลกได้ตั้งอยู่บนก้อนแซฟไฟร์ขนาดมหึมา ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงกระทบก้อนหินสีน้ำเงิน ก็จะสะท้อนเงาของหินชนิดนี้ขึ้นมาบนฟากฟ้า กลายเป็นท้องฟ้าสีน้ำเงินสดใสให้พวกเขาได้เห็น นอกจากนี้ พวกเขายังเปรียบท้องฟ้าเป็นเสมือนเป็นที่อยู่ของเหล่าทวยเทพทั้งหลายอีกด้วย และเมื่อกรีกเรืองอำนาจ การแผ่ขยายอิทธิพลของกรีกกระจายไปถึงแดนตะวันออกกลาง พวกเขาได้พบกับอัญมณีสีน้ำเงินชนิดนี้ และพากันเรียกขานด้วยความชื่นชมว่า Sappheisos ซึ่งหมายถึงหินสีน้ำเงิน แถมท้ายตำนานต่อมาของชาวโรมัน ก็ยกย่องให้แซฟไฟร์กลายเป็นของรักของหวงของเทพแซทเทิร์น หรือพระเสาร์ด้วยเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ในตำนานความเชื่อเกี่ยวกับแซฟไฟร์ หรือไพลินนั้นยังมีอีกมาก โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับสัญลักษณ์ คุณค่า และพลังของอัญมณีชนิดนี้ โดยคนโบราณเชื่อกันว่า สีน้ำเงินของไพลิน และสีสันที่สงบเย็นตานั้น จะมีพลังส่งไปถึงหัวใจของผู้ที่สวมใส่ที่ได้ครอบครองเลยทีเดียว โดยเชื่อกันว่า ไพลินจะมีพลังในเรื่องของการหยั่งรู้ความคิด สติปัญญา และสามารถสร้างความรู้สึกมั่นคง จริงใจ ให้กับจิตใจของผู้สวมใส่ได้อย่างดีทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ในยุคสมัยหนึ่งชาวยุโรปส่วนใหญ่จึงนิยมสวมใส่แหวนไพลิน เป็นสัญลักษณ์ของแหวนหมั้นสำหรับคู่รัก เพื่อใช้เป็นเครื่องยืนยันความหนักแน่นของหัวใจ และความมั่นคงในความรักตลอดไปด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ ไพลิน (Sapphire) ยังถูกยกย่องให้เป็นอัญมณีประจำราศีกันย์ หรือผู้ที่เกิดในเดือนกันยายนอีกด้วย 


สำหรับคุณค่า และความนิยมไพลินในปัจจุบันนั้น ถือว่ายังได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นที่ชื่นชมมากสำหรับนักสะสมอัญมณีที่ชอบสีน้ำเงินเป็นชีวิตจิตใจ แต่ทั้งนั้นทั้งนั้น แซฟไฟร์ที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มีความแตกต่างกันมากจากหลายแหล่งด้วยกัน อาทิ  แซฟไฟร์จากแคชเมียร์ ซึ่งถือได้ว่างดงามที่สุด และมีคุณภาพดีที่สุดในยุคอดีต แต่ ณ ปัจจุบันไพลินจากแหล่งนี้ไม่มีการผลิตอีกแล้ว จะมีก็แต่ไพลินจากซีลอน (ศรีลังกา) ไพลินจากพม่า ไพลินจากไทยในแหล่งกาญจนบุรี และไพลินจากออสเตรเลียเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มที่มาของไพลินทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้ว ไพลินจากพม่า และไพลินจากซีลอนถือว่าได้รับความนิยมสูงสุด เพราะมีสีน้ำเงินที่สดใส ประกายแวววาว ซึ่งแตกต่างจากไพลินของไทย และออสเตรเลียซึ่งมีสีน้ำเงินค่อนข้างคล้ำ และบางครั้งก็เป็นสีน้ำเงินปนเขียวอยู่บ้าง ซึ่งทำให้ราคาไพลินของไทยไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับไพลินจากพม่า และจากศรีลังกา นั่นเอง


สำหรับการเลือกซื้อไพลินมาเป็นเครื่องประดับคู่กายนั้นให้เลือกพิจารณาจากสีสันของไพลิน เหลี่ยมเงาหลังการเจียระไน มลทิน และน้ำหนักของอัญมณีเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของสีสัน บางครั้งผู้ซื้อจำเป็นต้องสังเกตให้ดี เพราะอาจมีอัญมณีบางชนิดที่มีสีสันใกล้เคียงกับไพลินจนทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น เพทายสีฟ้า อะความารีน คาลซิโดนีสีฟ้า และทัวร์มาลีนสีน้ำเงิน เป็นต้น


ส่วนสนนราคานั้น ตามปกติแล้วถ้าเป็นไพลินคุณภาพสูง น้ำงามอาจมีราคาสูงถึงกะรัตละ 20,000 – 60,000 บาททีเดียว แต่ถ้าน้ำงามมาก คุณภาพดีเลิศก็อาจขยับราคาขึ้นไปได้สูงถึง 150, 000 บาทต่อกะรัตทีเดียว ขณะที่ไพลินคุณภาพต่ำ เกรดตก มีสีดำคล้ำ อาจมีราคาถูกจนน่าตกใจ เพียงแค่กะรัตละ 50 – 100 บาทเท่านั้น เป็นต้น!

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ