เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องราวของศาสตร์แห่งจักระ และพลังจากสี และอัญมณีบำบัดไปบ้างแล้ว ซึ่งได้แก่จักรเบื้องต้นทั้ง 4 จุดในร่างกายของคนเรา ซึ่งได้แก่ สหัสราระ จักระ (Shasrara Chakras) อันมีจุดสัมผัสอยู่ที่กลางกระหม่อม หมายถึง ธาตุแห่งความรู้ และสติปัญญา มีความเชื่อมโยงกับอัญมณีสีม่วง คือ อะเมทิสต์ ที่จะช่วยส่งเสริมพลังในการหยั่งรู้เรื่องราวต่างๆ  ส่วนที่ 2 คือ อาชนะ จักระ (Ajna Chakras) ซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่หน้าฝาก หมายถึง ธาตุแห่งแสงสว่าง และการหยั่งรู้ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอัญมณีสีน้ำเงินเข้ม เช่น ลาพิส (Lapis) ส่วนที่ 3 คือ วิสุทธะ จักระ (Vishuddha Chakras) มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณลำคอ และท้ายทอย เป็นธาตุแห่งลม หรืออากาศธาตุ มีความเชื่อมโยงกับอัญมณีสีฟ้า เช่น บลูโทแพซ และจักระที่ 4 คือ อนาหตะ จักระ (Anahata Chakras) เป็นจักระที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กลางหน้าอก และหัวใจ โดยมีอัญมณีสีเขียว เช่น มรกต เป็นเครื่องเชื่อมโยงพลังของจักระ นั่นเอง

ดังนั้นในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนจึงจะขอเล่าถึงเรื่องราวของจักระในส่วนที่เหลืออีก 3 ส่วน คือ มณีปุระ สวาธิษฐาน และมูลธารณะ  ซึ่งจะมีรายละเอียดที่เชื่อมโยงกับอัญมณีสำคัญชนิดต่างๆ ดังนี้คือ

1. มณีปุระ จักระ (Manipura Chakras) – เป็นจักระธาตุไฟ ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ลิ้นปี่ สะดือ และกระเพาะอาหาร เป็นเสมือนศูนย์รวมของอารมณ์ ความรู้สึก ความมุ่งมั่น มีหน้าที่สำคัญในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบย่อยอาหาร การดูดซึมอาหาร และช่วยในเรื่องการควบคุมอารมณ์ได้อย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้ โลหะและอัญมณีที่ส่งผลดีกับจักระในส่วนนี้คือ พลอยตาเสือ ทองคำ บุษราคัม และซิทริน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังให้กับอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างดี ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างปกติ ควบคุมกรดในกระเพาะ และควบคุมอารมณ์ของคนเราได้อีกด้วย

2. สวาธิษฐาน จักระ (Swadhisthana Chakras) – เป็นจักระธาตุน้ำ มีที่ตั้งตำแหน่งต่ำกว่าสะดือลงมา โดยเฉพาะในส่วนของอวัยวะเพศ ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ทั้งยังส่งผลต่อความคิด อารมณ์ และความรู้สึกทางเพศของคนเราอีกด้วย โดยอัญมณีหินสีมงคลที่ส่งผลโดยตรงต่อจักระในส่วนนี้ได้แก่ ปะการัง และคาร์เนเลี่ยน เป็นต้น ซึ่งนอกจากอัญมณีทั้งสองชนิดนี้จะส่งผลดีกับธาตุน้ำแล้ว ยังส่งเสริมในเรื่องของการควบคุมจริยธรรม และพฤติกรรมผิดชอบชั่วดีของมนุษย์อีกด้วย

3. มูลละธาระ จักระ (Muladhara Chakras) – เป็นจักระธาตุดิน มีที่ตั้งของพลังงานอยู่บริเวณกระดูกสันหลัง และก้นกบ โดยจะทำงานสัมพันธ์กับไต ต่อมหมวกไต ลำไส้ใหญ่ ขาทั้งสองข้าง และโครงสร้างกระดูกทั้งหมดในร่างกาย เป็นรากฐานที่สำคัญที่บอกถึงความแข็งแกร่ง ความมั่นคงของชีวิต และสัญชาติญาณแห่งการต่อสู้ที่จะไม่มีวันยอมแพ้ ซึ่งอัญมณีสำคัญที่จะช่วยผลักดันพลังจักระในส่วนนี้ให้ทำงานได้อย่างสะดวกก็คืออัญมณีที่มีสีแดง เช่น ทับทิม และโกเมน นั่นเอง  

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับจักระ ปราณ ลมปราณ หรือชี่นั้น มิได้เพิ่งจะมีการนำมาพูดถึงในศตวรรษนี้เท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องราวที่มีการสืบทอดกันมายาวนานนับศตวรรษ โดยเฉพาะในแถบประเทศ จีน และทิเบต ซึ่งกล่าวกันว่าในทวีปนี้ จุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพลังจักระนี้ เริ่มมาจากการเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายตันตระของพระสังฆปรินายกองค์ที่ 27 แห่งนิกายเซน ผู้มีนามว่า พระโพธิธรรม ซึ่งขณะนั้นท่านได้เดินทางมาจากประเทศอินเดีย และได้เข้ามาก่อตั้งวัดเส้าหลินขึ้นในประเทศจีน และได้ริเริ่มการฝึกวิทยายุทธที่เรียกกันว่า ‘ฮั่นซี่กง’ หรือกังฟูเส้าหลิน นั่นเอง
นอกจากนี้ การกล่าวถึงพลังงานของจักระ ปราณ ลมปราณ หรือชี่ ยังมีอยู่ด้วยกันอีกหลายลักษณะ อาทิ พลังงานที่เกิดจากการฝึกโยคะของโยคี และฤาษี เป็นต้น ดังนั้นการจำแนกเรื่องราวของจักระ และบ่อเกิดของพลังงานจึงอาจแตกต่างกันไปบ้าง กล่าวคือ อาจารย์บางท่านอาจจำแนกจุดต่างๆ บนร่างกายออกเป็น 7 จุด 8 จุด และ 9 จุด ตามความเข้าใจของแต่ละท่าน นั่นเอง…แต่กระนั้น ผู้เขียนจะไม่ขอเจาะลึกในรายละเอียดส่วนนี้ นอกจากจะขอกล่าวถึงพลังของอัญมณีที่มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของ ‘พลังงาน’ ‘ลมปราณ’ และ ‘พลังชี่’ ที่หมุนวนอยู่ในร่างกายของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเท่านั้นเอง…

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ