ศิลปะความงามของเครื่องประดับในยุคสมัยนี้ จัดอยู่ในช่วงราวปี ค.ศ. 1837 – 1860 นับเป็นช่วงเวลายาวนานกว่า 23 ปีทีเดียวที่อังกฤษตกอยู่ในวงล้อมของศิลปะแบบสมัยนิยม ที่มีแนวคิดอิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการนำต้นแบบของศิลปะแบบกรีก โรมัน รวมถึงลัทธิศิลปะแบบโกธิค และเรอนาสซองต์มาเป็นแนวทางในงานออกแบบ ทำให้เกิดการผสมผสานรูปแบบของศิลปะ และประวัติศาสตร์กันอย่างลงตัว โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงประวัติศาสตร์ทางการเมือง กับแนวทางการออกแบบงานศิลปกรรมหลายแขนง รวมถึงงานออกแบบเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งจะพบว่าเครื่องประดับในยุคสมัยนี้จะเต็มไปด้วยความสดใสของแสงสีอัญมณีอันเฉิดฉายแบบโกธิค ลวดลายที่วิจิตรบรรจงแบบศิลปะกรีกและโรมัน และความหรูหราอลังการของงานออกแบบในยุคเฟื่องฟูของเรอนาสซองต์ จึงทำให้ทุกอย่างดูจะเต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเครื่องประดับที่นิยมใช้กันในราชสำนัก  

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีนักออกแบบที่ฉีกแนวการออกแบบที่ต่างออกไปปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง กล่าวคือ งานออกแบบของพวกเขาจะไม่ยึดติดกับประวัติศาสตร์ หรือรูปแบบความขรึมขลังอลังการแบบโบราณ แต่จะเน้นความอ่อนหวาน สวยงาม เพื่อให้เหมาะกับสตรีในราชสำนัก ซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ที่นิยมสวมใส่เครื่องประดับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับอังกฤษแล้ว นี่คือช่วงต้นของการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ซึ่งขณะนั้นพระองค์ยังทรงอยู่ในช่วงเยาว์ชันษา และทรงเพิ่งจะเริ่มต้นรู้จัก ‘ความรัก’ เป็นครั้งแรก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า แนวทางของเครื่องประดับในยุคต้นของพระองค์ จะเต็มไปด้วยความหรูหรา และโรแมนติกถึงเพียงไหน โดยเฉพาะเมื่อเวลานั้น อังกฤษกำลังกลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่…

สำหรับรูปแบบของงานออกแบบ และอัญมณีที่นิยมใช้ในยุคนี้ ได้แก่ ลวดลายเส้นแบบเถาวัลย์ พวงองุ่น ใบไม้ และหัวใจ ขณะที่อัญมณีที่นิยมใช้กลับเป็นของหายาก เช่น ไข่มุก นิล เทอร์ควอยซ์ งาช้าง ทองคำ และอลูมิเนียม เช่น มีการนำเอาไข่มุกมาร้อยเรียงรวมกันเป็นพวงองุ่น การนำเอาทองคำมาผสมสีต่างๆ การนำเอาทองคำมาม้วนเป็นเส้น ขึ้นลวดลายรูปแบบต่างๆ เช่น ใบไม้ เถาวัลย์ และหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ ในยุคสมัยนี้ยังพบว่ามีการเริ่มต้นทำวัสดุชุบทองคำ (ทอง 18K) เกิดขึ้นแล้วในราชสำนักอังกฤษอีกด้วย…

ช่วงหลังปี ค.ศ. 1860 – 1885 นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตทั้งในด้านการเมือง และศิลปกรรมของอังกฤษก็ว่าได้ โดยเฉพาะในราชสำนักอังกฤษ ที่มีผู้นำซึ่งเต็มไปด้วยความสง่างาม และเข้มแข็งเช่นพระนางวิคตอเรีย จนทำให้ในยุคสมัยนี้ของพระองค์ถูกขนานนามว่าเป็นยุคสมัยแห่งความ “สง่างาม” ของอังกฤษก็ว่าได้ โดยเฉพาะสตรีชาวอังกฤษในยุคนี้ที่มิใช่จะเพียงสวยสง่าเท่านั้น แต่ทุกคนยังมีความมุ่งมั่น กล้าหาญ และยืนหยัดอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่เทียบได้กับบุรุษและได้รับการยอมรีบจากสังคมมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นรูปแบบศิลปะเครื่องประดับในยุคสมัยนี้จึงมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มักจะเน้นรูปแบบศิลปะอีทัสคันที่มีความเข้มแข็ง สง่างาม เช่น รูปงู รูประฆัง ช่อดอกไม้ หรือพู่ห้อยระย้า แต่ก็ยังมีความหวานของหัวใจสอดแทรกอยู่ในการออกแบบเช่นเดียวกัน ส่วนอัญมณีในยุคนี้มีความนิยม อำพันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอำพันที่มีซากแมลงปรากฏอยู่ในเม็ดอัญมณี ซึ่งถือว่างดงาม และขรึมขลังสำหรับสตรีชั้นสูงผู้สวมใส่เป็นอย่างมาก ส่วนวัสดุอื่นๆ ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดียวกับยุคต้นไม่เปลี่ยนแปลง.    

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ