Mandalay แหล่งค้าอัญมณีที่น่าสนใจในพม่า

Mandalay เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของพม่า รองจากย่างกุ้ง เป็นศูนย์กลางการค้า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของพม่าตอนเหนือ อยู่ใกล้กับโมกก (Mogok) แหล่งผลิตทับทิมและไพลินคุณภาพสูง และเหมือง พะกันต์ (Hpakant) แหล่งผลิตหยกคุณภาพดี ที่มีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก พ่อค้าชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเดินทางเข้าไปซื้ออัญมณีในเมืองมัณฑะเลย์ เพราะมี สนามบินนานาชาติ และยังเป็นจุดแวะพัก สำหรับเดินทางไปซื้อพลอยสีต่อที่เมืองโมกกซึ่งสามารถเดินทางไปกลับภายในหนึ่งวันได้อีกด้วย



ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในเมืองมัณฑะเลย์ทำธุรกิจเจียระไนหยก และเครื่องประดับทองทั้งทอง และทองประดับอัญมณี ตลาดค้าหยกขนาดใหญ่ ชื่อว่า Maha Aung Myay Kyuak Myat ตั้งอยู่บริเวณถนนสาย 87 และ 88 ตัดถนนสาย 39 และ 40 เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหยกที่สำคัญแห่งเดียวในเมืองนี้ มีพ่อค้ามาค้าขาย และรับซื้อหยกกันอย่างคับคั่ง ตลาดเปิดทุกวัน แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาเช้าและบ่าย คือ 4.00-10.00 น. และเวลา 14.00-16.00 น. ตลาดหยกแห่งนี้แบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน

  • โซนภายนอกเป็นพื้นที่ให้เช่า จำหน่ายหยกก้อนดิบหลากขนาด มีผู้ค้าอยู่กว่า 100 ราย
  • โซนภายในเป็นโต๊ะรับซื้อขายหยกก้อนและหยกเจียระไน กว่า 300 โต๊ะ ผู้ซื้อหลักคือ พ่อค้าชาวจีน พ่อค้าชาวพม่า อาจมีนายหน้าท้องถิ่นนำหยกมาเสนอขายให้กับผู้ซื้อด้วย ราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับคุณภาพหยกและการเจรจาต่อรอง  

ภายในบริเวณตลาดยังมีช่างท้องถิ่นชาวพม่ามารับจ้างเจียระไนหยก โดยใช้เครื่องมือเจียระไนแบบดั้งเดิมซึ่งใช้เท้าถีบอยู่ หรือใช้เครื่องมือเจียระไนแบบพื้นฐาน บริเวณโดยรอบตลาดแห่งนี้ยังมีร้านค้าปลีกเครื่องประดับหยกอยู่หลายร้าน ส่วนใหญ่จำหน่ายหยกแกะสลัก สร้อย กำไล และต่างหูหยก รวมถึงอำพันและหินสีอื่นๆ โดยช่างฝีมือชาวพม่า เน้นขายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าชาวจีน สื่อสารกันจึงใช้ภาษาพม่าและภาษาจีนเป็นหลัก

ธุรกิจเครื่องประดับในเมืองมัณฑะเลย์ ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าปลีกท้องถิ่น ตั้งอยู่ริมถนนสายสำคัญหรือย่านการค้าต่างๆ ที่มีร้านค้ามากที่สุด คือ ริมถนนสาย 84 ตัดถนนสาย 26 บริเวณใกล้เคียงกับ Zegyo Market เป็นตลาดท้องถิ่นที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองมัณฑะเลย์ บนถนนทั้งสองสายนี้มีร้านค้าปลีกเครื่องประดับอยู่ 10 กว่าร้าน อาทิ ร้าน Weint Sein High Class Gold Shop ซึ่งเป็นร้านเครื่องประดับทองที่ได้รับความนิยมในพม่า ริมถนนสายอื่นๆ มีร้านค้าปลีกเครื่องประดับบ้างประปรายเน้นจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นเป็นหลัก

ร้านค้าปลีกเครื่องประดับแบบดั้งเดิม

สินค้าที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมส่วนมากเป็นเครื่องประดับทองรูปพรรณ 22-24 กะรัต เครื่องประดับทองขาวหรือทองสีเหลืองและสีขาวสลับเป็นลวดลายสไตล์อิตาลี 18 กะรัต และเครื่องประดับเพชร เครื่องประดับทองตกแต่งคิวบิคเซอร์โคเนีย ส่วนเครื่องประดับทองตกแต่งด้วยอัญมณีอื่นๆ อาทิ หยก พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อน ไข่มุกเซ้าท์ซีที่ผลิตได้ในทะเลตอนใต้ของพม่า รวมถึงทองคำแท่งก็มีอยู่บ้างในบางร้านหรือมีสัดส่วนการจำหน่ายที่น้อยกว่า ทั้งนี้ ชาวเมียนมาส่วนใหญ่นิยมสวมใส่เครื่องประดับทองรูปพรรณและถือเป็นการสะสมทรัพย์สิน ขณะที่คนที่มีฐานะร่ำรวยจะชื่นชอบเครื่องประดับเพชรเพื่อแสดงฐานะทางสังคมมากกว่า สำหรับเครื่องประดับทองและทองคำแท่งที่วางขายในร้านค้าปลีกเหล่านี้ผลิตขึ้นเองโดยช่างฝีมือของแต่ละร้านซึ่งเป็นชาวเมียนมาทั้งหมด เครื่องประดับจึงมีรูปแบบเรียบง่ายค่อนข้างคล้ายคลึงกันเกือบทุกร้าน เว้นเพียงเครื่องประดับทองขาว 18 กะรัต ที่ทุกร้านจะนำเข้ามาจากฮ่องกงผ่านตัวแทนจำหน่าย

รูปแบบเครื่องประดับภายในร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม

แหล่งค้าเครื่องประดับที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ ริมถนนสาย 78 ใกล้กับห้างสรรพสินค้า Diamond Plaza ใจกลางเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งถือเป็นย่านที่เจริญที่สุดของเมือง มีร้านค้าปลีกเครื่องประดับที่ดูทันสมัยมากขึ้นอยู่ราว 7 ร้าน ซึ่งนอกจากกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนในท้องถิ่นที่มีฐานะดีแล้ว ยังเน้นจำหน่ายสินค้าให้แก่นักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย สินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทอง 18 กะรัต ทั้งตกแต่งและไม่ตกแต่งอัญมณี โดยเฉพาะเครื่องประดับเพชร และเครื่องประดับเพชรตกแต่งไข่มุกหรือพลอยสี ซึ่งมีดีไซน์ร่วมสมัยดูหรูหรามากขึ้น อาทิเช่น ร้าน New Star Gems & Jewellery เป็นต้น ร้านค้าปลีกบริเวณนี้จะเน้นความสวยงามในการตกแต่งร้านและการจัดวางสินค้าซึ่งแตกต่างจากย่านอื่นๆ รวมทั้งมักตั้งป้ายโฆษณาสินค้าขนาดใหญ่อยู่หน้าร้าน อีกทั้งยังมีร้านค้าปลีกเครื่องประดับหยก เน้นจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน

ส่วนร้านค้าปลีกสมัยใหม่จะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า Diamond Plaza ซึ่งมีร้านค้าและเคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในโซนเดียวกันอยู่ 11 ร้าน เป็นของผู้ประกอบการชาวเมียนมาทั้งหมด สินค้าที่จำหน่ายมีทั้งเครื่องประดับแท้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทองรูปพรรณ 20-22 กะรัต เครื่องประดับเพชร เครื่องประดับมุก เครื่องประดับพลอยสีซึ่งส่วนมากเป็นพลอยเนื้ออ่อน เครื่องประดับทองขาวล้วน 18 กะรัต เครื่องประดับเงินทั้งที่ตกแต่งและไม่ตกแต่งอัญมณี รวมถึงเครื่องประดับแฟชั่น รูปแบบมีตั้งแต่แบบคลาสสิกเรียบง่ายไปจนถึงสไตล์ร่วมสมัย จากการสัมภาษณ์เจ้าของร้านเครื่องประดับหลายรายพบว่า เครื่องประดับที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่ผลิตขึ้นโดยช่างฝีมือชาวเมียนมา เว้นเพียงเครื่องประดับทองขาวล้วน 18 กะรัต สไตล์อิตาลีที่ซื้อมาจากผู้ค้าส่งชาวฮ่องกง ส่วนวัตถุดิบจำพวกเพชรเจียระไนมักสั่งซื้อจากตัวแทนนำเข้าจากฮ่องกงเช่นกัน ขณะที่พลอยสีบางส่วนซื้อมาจากผู้ค้าพลอยในเมืองโมกกและบางส่วนก็นำเข้าจากผู้ค้าไทย

อ่านบทความ Top5 แหล่งช๊อปจิวเวลรี่ที่ดีที่สุดในโลก 

ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก GIT Information Center

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ