ชึ้นชื่อว่า ทองคำ เราก็มักจะเข้าใจว่ามีสีทองอย่างเดียวใช่ไหมคะ Lenya นำ ความรู้เรื่องทองอีก 7 ประเภท ที่มีทองคำเป็นส่วนผสมอยู่ มาให้ได้ทราบกันค่ะ 

ทองคำบริสุทธิ์จะมีสีเหลือง แต่ทองอาจจะเป็นสีอื่นได้โดยการเจือธาตุอื่นลงไปในทองตามสัดส่วนที่ต่างกัน เช่น ทองคำ 14 ส่วนโลหะเจือ 10 ส่วนจะเป็นทอง 14 กะรัตหรือทองคำ 18 ส่วนโลหะเจือ 6 ส่วนก็จะเป็นทอง 18 กะรัต ปกติจะแสดงเป็นสัดส่วนแทน เช่น 14/24 เท่ากับ 0.585 (ปัดเศษ) และ 18/24 เท่ากับ 0.750 มีธาตุกว่า 100 ชนิดที่สามารถเจือลงในทองได้ แต่โดยปกติแล้วจะเจือเงินเพื่อให้ทองมีสีขาว เจือทองแดงเพื่อให้ทองมีสีแดง ถ้าผสมทองแดงและเงินในอัตราส่วน 50/50 จะให้โลหะเจือที่มีสีคล้ายทอง

แผนภูมิสี 3 ธาตุของโลหะเจือ Ag-Au-Cu

  • ทองขาว กับ ทองคำขาว
  • ทองคำเขียว
  • ทองคำชมพู แดง สีกุหลาบ (นาก)
  • ทองคำดำ
  • ทองคำเทา
  • ทองคำฟ้าและม่วง
  • ทองสัมฤทธิ์และทองเหลือง

ทองขาว กับ ทองคำขาว

คำว่า ทองคำขาว นั้นจะหมายถึง "Platinum" ในภาษาอังกฤษ ส่วนคำว่า ทองขาว นั้นคือ "White Gold" ทองขาว หมายถึงโลหะเจือของทองคำ และโลหะขาวอื่นๆ เช่น นิกเกิล หรือแพลเลเดียม ความบริสุทธิ์มีหน่วยเป็นกะรัต คุณสมบัติของทองขาวขึ้นอยู่กับโลหะและสัดส่วนการใช้ ทำให้โลหะเจือทองขาว สามารถใช้ในวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป เช่น โลหะเจือนิกเกิล จะแข็งจึงเหมาะสำหรับทำแหวนและหมุด โลหะเจือทอง-แพลเลเดียมจะนุ่มอ่อนและเหมาะสำหรับประดับอัญมณี โลหะอย่างทองแดง เงิน และ แพลทินัม ใช้สำหรับเพิ่มน้ำหนักและความคงทน ซึ่งต้องใช้ช่างทองที่ชำนาญเป็นพิเศษ คำว่าทองคำขาวมักจะใช้กันอย่างผิดๆในภาคอุตสาหกรรมโดยใช้เพื่อบ่งถึงโลหะเจือทองคำที่มีสีขาว หลายคนเชื่อว่าสีที่ชุบโรเดียมที่พวกเขาเห็นในเชิงพาณิชย์เป็นสีทองคำขาวที่แท้จริง คำว่าสีขาวนั้นครอบคลุมกว้างมากซึ่งอาจแบ่งหรือเหลื่อมทับไปถึง สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาลอ่อนมาก และสีกุหลาบอ่อน

แหวนแต่งงานทองขาวที่เคลือบโรเดียม สีปกติของทองขาวมีสีเทาอ่อนขึ้นกับโลหะเจือ โดยปกติเครื่องประดับที่ทำจากทองขาว นิยมเคลือบด้วย โรเดียม เพื่อเพิ่มความขาว และเงางาม

แต่เดิมในภาษาไทย คำว่าทอง หมายถึง โลหะที่มีสีสันสวยงาม อาจผสมหรือไม่ผสมก็ได้ เช่น ทองคำ ทองสำริด ทองเหลือง ทองแดง ฯลฯ ถ้าเป็นทองคำแท้ๆ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า โกลด์ ภาษาไทยใช้คำประสมประเภทคำซ้อนว่าทองคำ ซึ่งคำว่า คำ ก็แปลว่า ทอง เช่นคำว่าเชียงคำ เวียงคำ ดอยคำ ฯลฯ ทองคำจึงแปลว่าทองทอง โดยนัยหมายถึงทองแท้ๆ ต่อมาในต่างประเทศมีการนำเอาแพลทินัม มาทำเป็นเครื่องประดับ ซึ่งโดยทั่วไปในประเทศไทยจะไม่มีพระพุทธรูปหรือศิลปวัตถุเป็นแพลทินัม แพลทินัมหายากกว่าทองคำ จึงมีราคาสูงกว่าทองคำ คนไทยจึงตั้งชี่อแพลทินัมว่าทองคำขาวเพราะว่าเป็นโลหะมีค่าเหมือนทองคำ มีสีขาวและหายาก จึงเป็นที่มาของคำว่าทองคำขาว ส่วนไวท์โกลด์ ซึ่งคิดค้นขึ้นในเวลาต่อมา จึงใช้คำว่าทองขาว เพราะเป็นโลหะผสมแบบเดียวกับทองเหลือง ทองเขียว ฯลฯ และสีสันเหมือนทองคำขาว ซึ่งเป็นคำกำกวม เพราะทองขาวในภาษาไทยก็มีความหมายเดิมอยู่แล้วดังที่ปรากฏในพจนานุกรม ยังมีคำกำกวมคล้ายกันนี้อีก เช่นคำว่า เรดโกลด์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงคอปเปอร์หรือทองแดง แต่เป็นโลหะผสมระหว่างทองคำและทองแดง



ทองคำเขียว

ทองคำเขียว (Green gold) เป็นทองคำโลหะเจือที่สร้างโดยดึงเอาทองแดงออกไป เหลือไว้เพียงแค่ทองคำและเงิน ความจริงแล้วมันจะปรากฏเป็นสีเหลืองสีเขียวแทนที่จะเป็นสีเขียว ทองเขียว 18 กะรัตประกอบไปด้วยทองคำ 75% และเงิน 25% วิธีลงยาน่าจะเป็นวิธีเหมาะสมกว่าที่จะสร้างทองคำเขียว


ทองคำชมพู แดง สีกุหลาบ (นาก)

ทองคำสีกุหลาบ (Rose gold) เป็นโลหะเจือระหว่างทองคำและทองแดง (บางทีก็เจือด้วยเงินด้วย) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องประดับเฉพาะเนื่องจากสีที่แดงเรื่อของมัน เป็นที่รู้จักในชื่อ ทองคำชมพู (Pink gold) และ ทองคำแดง (Red gold) มันเคยเป็นที่นิยมกันมากในรัสเซียในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ทองรัสเซีย แต่ปัจจุบันไม่ค่อยใช้คำนี้กันแล้ว แต่นิยมใช้คำว่านากแทน 

แม้ว่าจะมีการใช้ชื่อสลับกันบ่อยๆ แต่ความแตกต่างระหว่างทองคำ แดง สีกุหลาบ และ ชมพู ขึ้นกับทองแดงที่เจืออยู่ ถ้ามีทองแดงมากก็จะมีสีแดงเข้มมาก สีทองคำบริสุทธิ์มีสีเหลืองและทองแดงบริสุทธิ์มีสีแดงเรื่อ โลหะเจือปกติของทองคำสีกุหลาบ (18 กะรัต) จะเป็นทองคำ 75%, ทองแดง 22.25% และเงิน 2.75% โดยมวล ดังนั้นจึงไม่มีทองคำสีกุหลาบบริสุทธิ์เพราะมันเป็นโลหะเจือ  ทองคำสีกุหลาบกะรัตสูง ทองคำสีกุหลาบกะรัตสูงหรือที่รู้จักกันในชื่อ Crown gold เป็นทอง 22 กะรัต โดยมีทองคำ 91.67% และที่เหลือเจือด้วย เงินและ/หรือทองแดง ทองคำแดง 14 กะรัตมักพบในแถบตะวันออกกลางซึ่งมีทองแดง 41.67%

 
ทองคำดำ

ทองคำดำ (Black gold) เป็นทองที่ใช้กันในเครื่องเพชรพลอย สีของทองคำดำสามารถสร้างได้หลายวิธี ชุบโลหะด้วยไฟฟ้า โดยใช้โรเดียมดำหรือรูทีเนียม วิธีนี้รูทีเนียมจะให้สีดำมากกว่าใช้โรเดียม[ 

การทำสนิมเขียวโดยใช้กำมะถันและออกซิเจนเป็นสารประกอบพลาสมาจะช่วยกระบวนการตกตะกอนไอระเหยของสารเคมีของคาร์บอนอสัณฐาน และควบคุมออกซิเดชันของความบริสุทธิ์ (กะรัต) ของทองคำกับโครเมียมหรือโคบอลต์

เมื่อเร็วๆนี้ เทคนิคเลเซอร์ได้รับการพัฒนาที่ทำให้พื้นผิวของโลหะมีสีดำเข้ม เลเซอร์สัญญาณจังหวะขนาดเฟมโตวินาทีจะทำให้ผิวหน้าของโลหะเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างนาโน ผิวหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจะดูดซับแสงที่ตกลงมากระทบทำให้มองเห็นเป็นสีดำเข้ม


ทองคำเทา  
เป็นทองคำโลหะ เจือที่สร้างโดยผสมเงิน แมงกานีส และ ทองแดงลงไปตามสัดส่วนเฉพาะ


ทองคำม่วง
เป็นโลหะเจือของทองคำและอะลูมิเนียม โดยจะประกอบด้วยทองประมาณ 79% จึงสามารถเรียกเป็นทอง 18 กะรัตได้ ทองคำม่วงเปราะกว่าโลหะเจือทองคำชนิดอื่นๆ แตกหักได้ง่าย  ดังนั้นปกติจึงใช้เป็นตัวเรือนแทนอัญมณีมากกว่าจะใช้เป็นทำเป็นตัวเรือนเครื่องประดับเลย ทองคำฟ้า  เป็นโลหะเจือที่คล้ายกัน เกิดจากการผสมระหว่างทองคำและอินเดียม

ทองสัมฤทธิ์และทองเหลือง

ไม่มีส่วนผสมของทองคำ เป็นโลหะที่ใช้ทองแดงเป็นโลหะหลัก (copper base alloys) และเป็นที่รู้จักกันมานานแล้วคือ ทองเหลือง (Brass) และทองสัมฤทธิ์ (Bronze) นอกจากนี้ก็มีโลหะผสมทองแดง-นิกเกิล โลหะผสมทองแดง-อะลูมิเนียม เป็นต้น

ทองเหลือง คือโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี ใช้ทำเครื่องใช้เครื่องประดับ และงานทางศิลปะ ทองเหลืองที่ใช้งานทั่วๆ ไปมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่สามารถแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ 2 ประเภท คือ ทองเหลือง แอลฟา และทองเหลืองแอลฟา-บีตา (alpha, alpha-beta brass)

ทองเหลืองแอลฟา คือ ทองเหลืองที่มีส่วนผสมของทองแดงมากกว่าร้อยละ 61 ทองเหลืองประเภทนี้อ่อน สามารถตีแผ่ หรือทำเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่ายเหมาะสำหรับทำภาชนะ และเครื่องใช้ต่างๆ

ทองเหลืองแอลฟา-บีตา ประกอบด้วยทองแดงระหว่างร้อยละ 54-61 ทองเหลืองชนิดนี้แข็ง และเปราะกว่าชนิดแรก ใช้ทำชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบของเครื่องจักร


ทองสัมฤทธิ์ หรือ สำริด เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดง และดีบุก สัมฤทธิ์บางชนิดอาจมีส่วนผสมของสังกะสี หรือตะกั่วปนอยู่ด้วย สัมฤทธิ์ที่เป็นโลหะผสมของทองแดง นิยมใช้ทำเป็นชิ้นส่วนของเครื่องจักรกลที่ใช้กันมากในงานอุตสาหกรรม สัมฤทธิ์แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามชนิดและส่วนผสมของสาร คือ

1. สัมฤทธิ์ที่มีดีบุกต่ำกว่าร้อยละ 8 ค่อนข้างอ่อน ตีแผ่ หรือรีดได้ง่าย เหมาะกับงานทั่วๆไป

2. สัมฤทธิ์ที่มีดีบุกต่ำกว่าร้อยละ 8 แต่มีสังกะสี หรือตะกั่วผสมอยู่ด้วย เช่น สัมฤทธิ์ 5-5-5 คือ สัมฤทธิ์ที่มีส่วนผสมของดีบุกร้อยละ 5 สังกะสีร้อยละ 5 ตะกั่วร้อยละ 5 ใช้ทำเฟือง และหล่อทำเครื่องสูบน้ำ

3. สัมฤทธิ์ที่มีดีบุกร้อยละ 8-10 อาจมีสังกะสี หรือตะกั่วปนอยู่บ้าง สัมฤทธิ์ชนิดนี้ใช้ทำท่อน้ำ

4. สัมฤทธิ์ที่มีฟอสฟอรัสผสมอยู่ร้อยละ 0.1-0.6 ดีบุกร้อยละ 6-14 สัมฤทธิ์ชนิดนี้ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเล จึงเหมาะที่จะนำไปใช้ทำชิ้นส่วนของเรือเดินทะเล เช่น ใบพัดเรือ และทำเฟืองเกียร์

5. สัมฤทธิ์ที่มีตะกั่วผสมร้อยละ 8-20 บางชนิดอาจสูงถึงร้อยละ 30 ส่วนดีบุกนั้นมีตั้งแต่ร้อยละ 0-10 ใช้ทำแท่นรองรับ (bearing)

6. สัมฤทธิ์ชนิดที่ใช้ทำระฆัง หรือเครื่องเสียง มีส่วนผสมของดีบุกกว่าร้อยละ 30 โดยผสมตะกั่วและสังกะสีลงไปเล็กน้อย

อ่านบทความเรื่อง นาก / พิงค์โกลด์  เพิ่มเติมตลิก

อ่านบทมความเรื่อง โรเดียม คลิก


ข้อมูลจาก : วิกิพิเดีย
 

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ